กว่าจะเป็นแหวนเพชร

ออกแบบแหวน

กว่าจะเป็นแหวนเพชร

สำหรับผู้ซื้อแล้ว การที่จะซื้อ แหวนเพชรสักวง ก็อาจจะเลือกวงที่ชอบ จากทางร้านได้เลย ในกรณีที่ สวมใส่ได้พอดี หรือ อาจจะสั่งทำกับ ทางร้านโดยการเลือก เพชรร่วง และเลือกแบบจากนิตยสาร หรือ ให้ดีไซน์เนอร์ออกแบบให้

แต่ก็มักจะพบกับ คำถามที่ว่า “ทำไมใช้เวลานานจังเลย” ความจริงแล้ว กว่าจะได้แหวนเพชรสักวง จะต้องผ่านกระบวนการต่างๆมากมาย อาจจะเป็นเรื่อง ที่ทำความเข้าใจยากสักหน่อย สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเครื่องประดับ เพราะมีคำศัพท์เฉพาะ แต่กระบวนการก็ไม่ได้ซับซ้อน จนเกินจะทำความเข้าใจ


ขั้นตอนที่1 ออกแบบ

 

ออกแบบแหวน


การออกแบบ นอกจากเราจะได้รู้ภาพรวมของเครื่องประดับแล้วว่ามีหน้าตาอย่างไร ยังเป็นตัวกำหนดงบประมาณและกำหนดขนาดและจำนวนเพชรที่จะใช้ได้ด้วย เพราะแหวนเพชรบางแบบจะมีเพชรล้อมหรือเพชรบ่าข้างมาประกอบ

เพราะฉะนั้นขนาดและจำนวนที่ใช้จึงส่งผลต่อราคาของแหวนโดยตรงเลย ยกตัวอย่างเช่น ต่างหูล้อมเพชร(1ข้าง) เม็ดกลาง60ตังค์ ล้อมด้วยเพชร 2 ตังค์จำนวน12เม็ด น้ำหนักเพชรบ่ารวม24ตังค์ แต่ถ้าล้อมด้วยเพชร 1 ตังค์จะใช้เพชรจำนวน15เม็ด น้ำหนักเพชรบ่ารวม15ตังค์ ราคาสั่งทำตัวเรือนก็จะถูกลง

ประเภทของการออกแบบเครื่องประดับ มีด้วยกัน 2 วิธี หลักๆ คือ


1. การออกแบบด้วยมือ ใช้ฝีมือของดีไซเนอร์ในการออกแบบ กำหนดขนาดและสัดส่วนของแหวนเพชร หรือเครื่องประดับเพชร
2. การออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบ ภาพที่ได้จะเป็นภาพสามมิติ เห็นได้ทุกมุมมอง

 

ขั้นตอนที่2 การทำต้นแบบ
– การทำต้นแบบโลหะ ใช้กับงานที่มีรายละเอียดไม่มากอย่างเช่น แหวนเกลี้ยงเป็นต้น เป็นการขึ้นรูปชิ้นงานโดยการดัด ทุบ ตี เลื่อย และเชื่อม ของชิ้นส่วนโลหะเข้าด้วยกัน
– การทำต้นแบบเทียน เป็นการแกะwax(เทียน) ให้มีขนาดและรูปร่างเหมือนกับแบบที่เราออกแบบไว้ หากออกแบบด้วยมือก็จะให้ช่างใช้ฝีมือและความละเอียดรอบคอบในการอ่านแบบและแกะต้นแบบเทียนออกมาให้เหมือนกับแบบมากที่สุด แต่ถ้าหากออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ก็สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรในการทำต้นแบบเทียนได้เลย

 

ขั้นตอนที่3 การหล่อ

เมื่อได้ต้นแบบเทียนเรียบร้อยแล้ว ก็จะมาถึงกระบวนการหล่อ การหล่อในกระบวนการผลิตเครื่องประดับก็คือ การหลอมโลหะให้ละลาย แล้วใช้แรงเหวี่ยงหรือแรงหมุนทำให้น้ำโลหะไหลเข้าไปในช่องว่างภายในเบ้า(เป็นภาชนะที่บรรจุต้นแบบเทียนเอาไว้) การที่เกิดช่องว่างภายในเบ้าเกิดจากการใช้ความร้อนทำให้เทียนที่อยู่ภายในเบ้าละลายออกมาเกิดเป็นโพรงซึ่งมีลักษณะเหมือนกับแบบที่ออกแบบไว้ทุกประการ

แหวนที่ได้จากการหล่อ หรือแหวนที่เกิดจากการทำต้นแบบโลหะ หากเราต้องการที่จะผลิตซ้ำก็นำไปทำแม่พิมพ์ยางขึ้น เพื่อใช้ในการฉีดเทียนและนำเทียนที่ได้ไปหล่อ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า การสั่งทำแหวนที่เป็นแบบของทางร้านเองนั้นจึงมักประหยัดเวลามากกว่า

 

ขั้นตอนที่4 ตกแต่งชิ้นงาน


ชิ้นงานแหวนเพชรที่ได้จากกระบวนการหล่อ อาจจะมีผิวที่ไม่เรียบสม่ำเสมอ หรือส่วนเกิน บางทีชิ้นงานก็จะเกิดรอยหลุ่มเล็กๆที่เรียกว่าตามด ก็ต้องตกแต่งชิ้นงานให้สมบูรณ์มากที่สุดเพื่อง่ายต่อการขัดแต่งชิ้นงานในกระบวนการถัดไป

 

ขั้นตอนที่ 5 การขัดผิวชิ้นงาน

 

เป็นการทำให้ผิวชิ้นงานเกิดความเงางามโดยการใช้ล้อผ้าสักหลาด สำหรับขัดงานเครื่องประดับโดยเฉพาะ ซึ่งจะใช้ควบคู่ไปกับยาขัดสำหรับเครื่องประดับโดยเฉพาะเช่นกัน

 

ขั้นตอนที่ 6 การฝัง

การฝังเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความชำนาญและความปราณีตของช่างเป็นอย่างมาก มิฉะนั้นอาจเกิดความเสียหายต่อพลอยหรือเพชรของเราได้ ซึ่งการฝังก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธีแล้วแต่ว่างานชิ้นนั้นๆเหมาะกับการฝังแบบไหน หรือมีการออกแบบมาให้ฝังแบบไหน
ขั้นตอนสุดท้าย การชุบ
การชุบเป็นการเพิ่มความสวยงามให้กับผิวชิ้นงานมากยิ่งขึ้น หรือเป็นการทำสีผิวชิ้นงานที่เกิดจากการตัดต่อไซส์หรือการฝัง ให้มีความสม่ำเสมอทั่วกันทั้งชิ้นงาน หรือเป็นการทำชิ้นงานให้ดูมีความน่าสนใจมากขึ้นอย่างเช่นการชุบแหวนเพชร 2 สี หรือการทำผิวสัมผัสที่แตกต่างสองอย่าง เช่น เงาและด้าน (พ่นทราย,แรเงา)