การอ่านใบเซอร์เพชร

การอ่านใบเซอร์เพชร

การอ่านใบเซอร์เพชร

เดิมทีเพชรที่มีใบเซอร์ มักเป็นเพชรขนาดใหญ่ เช่น ขนาดใหญ่กว่า 1 กะรัต แต่ในปัจจุบันเพชรขนาดตั้งแต่ 0.30 กะรัต ก็หาแบบที่มีเซอร์ได้ไม่ยากครับ

ความสำคัญของใบเซอร์?
ใบเซอร์เพชร หรือใบรายงานเพชร (Diamond Report) มักออกโดยสถาบันอัญมณีที่เป็นบุคคลที่สามซึ่งมีอุปกรณ์ชั้นสูงไว้ใช้ตรวจสอบ โดยผู้เชี่ยวชาญ เราควรซื้อเพชรพร้อมเซอร์เสมอ เพื่อความมั่นใจว่า เพชรเม็ดนั้นๆเป็นเพชรแท้ เพชรธรรมชาติ ไม่ใช่เพชรเลียนแบบ (Diamond Simulant) หรือเพชรสังเคราะห์ (Synthetic Diamond)และควรศึกษาความหมายตัวเลข สัดส่วนต่างๆในใบเซอร์ เพื่อเราจะสามารถแยกแยะ เพชรคุณภาพดีออกจากเพชรคุณภาพปานกลาง หรือแย่ได้ครับ

ตัวอย่างใบเซอร์เพชร GIA

การอ่านใบเซอร์เพชร

1. เริ่มจาก หมายเลข 1 ก่อนเลยนะครับ ตัวอย่างใบเซอร์นี้เป็นของ GIA แบบ Dossier (คือเป็นแบบใบเล็กครับ จะไม่มีการพล็อตตำแหน่งตำหนิของเพชร ต่างจาก full eport ที่จะมีการแสดงตำแหน่งตำหนิของเพชรด้วย ) สำหรับ laser inscription registry หมายถึง หมายเลขของใบเซอร์ที่แสดงไว้ที่ขอบเพชรครับ

 

2. Shape and cutting style หมายถึงรูปทรง และแบบการเจียรไนของเพชรครับ ตามตัวอย่างคือ Round Brilliant คือเพชรทรงกลม เหลี่ยมเกสร สำหรับเพชรทรงอื่นๆ ได้แก่ Square (สี่เหลี่ยม) Oval (ไข่) เป็นต้นครับ

 

3. Measurement หมายถึงขนาดของเม็ดครับ ความกว้างxความยาวxความสูง หรือถ้าสำหรับเพชรทรงกลม เป็น ความกว้าง (เส้นผ่านศูนย์กลาง)สูงสุด x ความกว้าง(เส้นผ่านศูนย์กลาง)ต่ำสุด x ความสูง หน่วยเป็นมิลลิเมตร จากรูป เพชรเม็ดนี้มีขนาด กว้างสูงสุด 4.48 มม กว้างต่ำสุด 4.45 มม และมีความสูง (ความลึก) 2.76 มม สำหรับเพชรกลม ความแตกต่างระหว่าง ความกว้างสูงสุด และต่ำสุด ยิ่งน้อย จะยิ่งกลม และยิ่งดีครับ เกณฑ์กว้างสำหรับเพชรเม็ดเล็กขนาด 30-50 ความแตกต่างไม่ควรเกิน 0.05 มม ครับ และอาจต่างได้ถึงไม่เกิน 0.10 มม สำหรับเพชรขนาดใหญ่กว่าครึ่งกะรัต
measurement ยังสามารถใช้คำนวณ %ความลึก (Total depth) ได้ด้วยครับ โดยใช้สูตร ความลึก/ความกว้างเฉลี่ย จากรูป เพชรเม็ดนี้มี % ความลึก = 2.76/4.465= 61.8% ความกว้างเฉลี่ยคิดจาก (4.48+4.45)/2

 

4. Carat Weight หมายถึงน้ำหนักของเพชรครับ โดย 1 กะรัตมี 100 สตางค์ ตามตัวอย่างเพชรน้ำหนัก 0.33 กะรัต หรือ 33 สตางค์ครับ

 

5. Color หมายถึง สีของเพชร โดยเริ่มจาก D, E, F,…. 100, 99, 98 สียิ่งสูง เพชรจะยิ่งขาวครับ

 

6. Clarity หมายถึง ความสะอาดเพชร โดยเริ่มจาก IF, VVS1, VVS2, VS1, VS2, SI1-3, I1-3 แนะนำให้เลือกเพชรความสะอาดตั้งแต่ VS2-SI1 ขึ้นไปครับ เพราะตำหนิ มีขนาดเล็กมาก ไม่มีผลต่อความสวยงามของเพชร สำหรับความสะอาดระดับต่ำกว่านั้นเช่น SI2, I1-3 ตำหนิจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และบางครั้งจะขัดขวางการเดินทางของแสงครับ

 

7. Cut หมายถึง การเจียรไน เป็นการสรุปคุณภาพการเจียรไนโดยรวมของเพชรเม็ดนั้นๆครับ แนะนำว่าให้เลือกเป็น Excellent หรือ Very Good

 

8. Clarity Characteristic หมายถึง ลักษณะของตำหนิภายใน และภายนอกเพชร เช่น Crystal (ผลึก) pinpoint (รูเข็ม) cloud (กลุ่มของรูเข็ม คล้ายเมฆ) natural (ร่องรอยการเจริญเติบโตของเพชร ที่ใช้ยืนยันได้ว่าเป็นเพชรแท้)

 

9. Polish คุณภาพการขัดเงาที่ผิวเพชร เพชรที่มีการ Polish (ขัดเงา) ที่ดีจะมีความแวววาว สวยงาม สำหรับเพชรที่คุณภาพการขัดเงาไม่ดีนัก บางครั้ง เราจะเห็นเหมือนเป็นลาย (Polish Line) ซึ่งเกิดจากการขัดที่ผิวเพชร ควรเลือกซื้อเพชรที่มีคุณภาพการขัดเงา ที่ Excellent, Very Good

 

10. Symmetry คือ ความสมมาตรของเพชร หลักสังเกตง่ายๆ ให้ลองจินตนาการ พับเพชรแบ่งครึ่ง เพชรที่มีความสมมาตรที่ดี ด้านซ้ายและด้านขวาที่เกิดจากการแบ่งเพชรเป็นสองส่วน จะมีขนาดเหลี่ยมต่างๆใกล้เคียงกัน ควรเลือกเพชรที่มีความสมมาตรระดับ Excellent, Very Good

 

11. Fluorescence คือ การเรืองแสงของเพชรภายใต้แสงเหนือม่วง (ultraviolet) สำหรับเพชรเม็ดเล็ก ฟลูออเรสเซนปานกลาง ถึงเข้ม จะทำให้เพชรดูขาวกว่าความเป็นจริง แต่สำหรับเพชรเม็ดใหญ่ ฟลูออเรสเซนจะทำให้เพชรดูฝ้าและหมองครับ ควรเลือกซื้อเพชรที่ ไม่มีฟลูออเรสเซน (None) หรือมีเพียงจางๆ (faint, Slight)

 

12. Total depth เปอร์เซ็นต์ความลึก หมายถึง สัดส่วน ความลึกต่อความกว้างเฉลี่ยของเพชร เพชรที่ลึก หรือหนาเกินไปจะทำให้หน้าเพชรมืด หรือที่เรียกว่า nail head ครับ ส่วนเพชรที่บางเกินไป บางครั้งจะทำให้เห็นเงาสะท้อนของขอบเพชรที่หน้าเพชร ซึ่งถ้าขอบเพชรเป็นแบบ beard-girdle (ขอบขุ่น) จะทำให้เกิด fish eye ครับ เปอร์เซ็นความลึกที่ดีอยู่ระหว่าง 58-62.3%ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ Cut class ของเพชร

 

13. Table size ขนาดของเหลี่ยมเทเบิ้ล (เหลี่ยมที่ใหญ่ที่สุด เป็นแปดเหลี่ยมอยู่กลางหน้าเพชร) ขนาด table ที่สวยงามอยู่ระหว่าง 52-60%

 

14. Crown angle มุมคราวน์ตามเหลี่ยมในอุดมคติ (Ideal cut) อยู่ระหว่าง 33-35.1 องศา

 

15. Crown height ความสูงของคราวน์ (ครึ่งบนของเพชรเมื่อมองจากด้านข้าง) เทียบกับความกว้างเฉลี่ยของเพชร ความสูงของคราวน์ตามเหลี่ยมในอุดมคติ (Ideal cut) อยู่ระหว่าง 13.5-16.8%

 

16. Pavillion Angle มุมพาวิลเลี่ยน ไม่เคยเห็นการกำหนดมุมพาวิลเลี่ยนที่เหมาะสมครับ แต่โดยมากที่เห็นจะอยู่ระหว่าง 40.5-41.5 องศา

 

17. Pavillion Depth ความลึกของพาวิลเลี่ยน (ครึ่งล่างของเพชรเมื่อมองจากด้านข้าง) เทียบกับความกว้างเฉลี่ยของเพชร ความลึกของพาวิลเลี่ยนตามเหลี่ยมในอุดมคติ (Ideal cut) อยู่ระหว่าง 42.5-43.5%

18. Girdle เพชรที่มีคุณภาพดีมักมีขอบเพชรอยู่ระหว่าง thin-medium-slightly thick (บาง-กลาง-หนาเล็กน้อย)ควรหลีกเลี่ยงเพชรที่มีขอบบางมาก (Very thin) เพราะขอบเพชรจะเปราะและบิ่นได้ง่าย และควรหลีกเหลี่ยงเพชรที่มีขอบหนา (thick-very thick) เพราะแสงจะลอดออกทางขอบเพชร การสะท้อนแสงจะด้อยลง

 

19. Culet คือเหลี่ยมที่ส่วนล่างสุดของเพชร (ก้นเพชร) ควรเลือกเพชรที่ไม่มีเหลี่ยม culet (none or pointed) หรือ small และหลีกเลี่ยงเพชรที่มี culet ใหญ่กว่า medium ขึ้นไป เพราะเวลามองเพชรจากด้านหน้าจะเห็นเหลี่ยมนี้ เหมือนมีรูกลมๆตรงกลางเพชรครับ