ซื้อเพชรไม่ให้ถูกหลอก ถูกโกง

ซื้อเพชรไม่ให้ถูกหลอก ถูกโกง

ซื้อเพชรอย่างไรไม่ให้ถูกโกง

จากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการอัณมณี มาอย่างยาวนาน ผมได้มีโอกาสเห็นรูปแบบของการโกง และการหลอกลวงสารพัด มีตั้งแต่แบบพื้นๆ อย่างเช่น ให้ข้อมูลด้านเดียว, ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน, ชี้นำอย่างผิดๆ, แจ้งคุณภาพสูงเกินจริง จนกระทั่งแบบที่เลวร้ายที่สุด คือ หลอกลวงขายของปลอม สมัยที่ผมเคยไปตลาดพลอยที่จันทบุรี ทุกสัปดาห์ ได้มีโอกาสเห็นรูปแบบการโกง และหลองลวงหลากหลายรูปแบบ ทั้งพลอยเทียม พลอยสังเคราะห์ พลอยปะ (จริงแค่ครึ่งบน ครึ่งล่างปลอม) ในส่วนวงการเพชรนั้น ก็มีการหลอกลวงหลากหลายรูปแบบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เพชรเลียนแบบ (Simulant), เพชรสังเคราะห์ (Synthetic Diamond), เพชรที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ (HPHT, Laser-Drilled), เพชรสวมเซอร์ ฯลฯ

ไม่นานมานี้ ผมได้ยินเรื่องเล่าจากลูกค้าบางท่าน ที่ฟังแล้วทำให้ไม่สบายใจนัก ถึงพฤติกรรมที่ส่อถึงเจตนาหลอกลวง ทุจริต หรือฉ้อโกง จากร้านเพชรบางร้าน ทั้งๆที่ร้านเพชรเหล่านั้นมีภาพลักษณ์ที่ดูดี มีผู้เชี่ยวชาญที่จบหลักสูตรด้านอัญมณีจากสถาบันที่มีชื่อเสียง ครั้งแรกที่ผมได้ยิน ตัวผมเองยังไม่อยากจะเชื่อเลยครับว่าจะเป็นไปได้ แต่พอได้ยินจากหลายๆ แหล่งข่าว จึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่า ร้านเพชรบางร้านคงมีพฤติกรรมเช่นนั้นจริงๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมเขียนบทความเรื่องนี้ขึ้นมา โดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้ซื้อเพชร รู้เท่าทันกลโกง และไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลองลวง โดยขอลำดับเป็นข้อๆดังนี้ครับ

1. ซื้อเพชรที่มีใบเซอร์เท่านั้น อย่างที่ผมย้ำเสมอๆครับ ถ้าเพชรที่ซื้อมีขนาดใหญ่กว่า 30 ตังค์ให้เลือกซื้อเพชรที่มีใบเซอร์จากสถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับเช่น GIA, HRD, IGI, AGS หลายๆครั้งผู้ขายอาจพยายามกล่อมหรือให้ข้อมูลผิดๆ ประมาณว่า เพชรมีเซอร์ แพงกว่าเพชรไม่มีเซอร์ เยอะ ให้ซื้อแบบที่ไม่มีเซอร์ดีกว่า อันนี้บอกได้เลยครับว่าไม่จริง ถ้าเป็นเพชรคุณภาพเดียวกันจริง เพชรมีเซอร์ กับเพชรไม่มีเซอร์ ราคาจะต่างกันแค่ราคาเซอร์ไม่กี่พันเท่านั้นครับ

2. ซื้อเพชรที่มีเลเซอร์ที่ขอบเพชรเท่านั้น เพื่อความสบายใจและมั่นใจ การเลือกซื้อเพชรที่มีเลเซอร์ที่ขอบจะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าเพชรไม่ถูกสับเปลี่ยนภายหลัง บางครั้งเพชรเมื่อถูกส่งไปขึ้นตัวเรือนต้องผ่านมือ คนมากมาย ทั้งแมสเสนเจอร์, ช่าง,พนักงานบริษัท ฯลฯ ระหว่างทางย่อมเป็นไปได้ว่า อาจมีคนสับเปลี่ยนเพชรของเรา แต่ถ้าเพชรของเรามีเลเซอร์ที่ขอบ เราก็สามารถตรวจสอบได้เสมอครับ

3. ตรวจสอบเพชรอย่างละเอียดทั้งก่อนและหลังขึ้นเรือน เพื่อความรอบคอบ ควรวัดขนาดเพชรทั้ง กว้างxยาวxสูง และชั่งน้ำหนักเพชร เพื่อตรวจสอบว่าตรงกับใบเซอร์หรือไม่ และเมื่อเพชรถูกฝังในตัวเรือนแล้วก็ควรตรวจสอบขนาด รวมทั้งเลเซอร์ที่ขอบอีกครั้ง และถ้าจะให้ละเอียดยิ่งกว่านั้น ควรขอดูตำแหน่งของตำหนิทั้งก่อนและหลังขึ้นตัวเรือน ตำแหน่งและลักษณะของตำหนิในเพชรแต่ละเม็ด เปรียบได้กับลายนิ้วมือของคนแต่ละคน ครับ ใช้ในการยืนยัน Identity ได้เป็นอย่างดี แต่การดูตำหนิอาจเป็นเรื่องค่อนข้างยาก โดยเฉพาะร้านเพชรที่ไม่มี Microscope มีแต่ Loupe และยิ่งยากขึ้นไปอีกเมื่อเพชรอยู่ในตัวเรือนแล้ว

4. ตรวจสอบครั้งสุดท้ายด้วย Diamond Tester ตอนที่รับแหวนเพชร หรือเครื่องประดับเพชร อย่าลืมตรวจสอบครั้งสุดท้าย โดยใช้ Diamond tester (อุปกรณ์ รูปทรงคล้ายปากกา ใช้จิ้มเพชร เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเพชรแท้ ตามรูปด้านล่าง) เป็นอุปกรณ์ที่ร้านเพชรทุกร้านควรมี ขอยืมมาใช้ได้ครับ (ถ้าร้านไหนไม่มี แนะนำว่าให้เดินหนีครับ เพราะทางร้านจะทราบได้ไงครับว่าเป็นเพชรแท้ เวลาซื้อเพชรเข้าร้าน?) จิ้มที่เพชรแต่ละเม็ดอีกครั้ง Diamond Tester รุ่นใหม่ๆ จะสามารถแยกเพชรจากเพชรเลียนแบบได้ทุกประเภท รวมถึงเพชรโมอีสด้วย (แต่จะไม่สามารถแยกเพชรสังเคราะห์ได้นะครับ เพราะเพชรสังเคราะห์มีคุณสมบัติทางกายภาพเหมือนเพชรทุกประการ) ขั้นตอนนี้ช่วยเพิ่่มความมั่นใจว่าเราได้เพชรแท้กลับบ้าน ไม่ใช่ของเก๊ แม้จะไม่ 100% ผมเคยได้ยินเรื่องราวที่สร้อยเพชรทั้้งเส้นฝังเพชรเลียนแบบที่แทบไม่มีมูลค่าใดๆ ทั้งหมดเลยครับ และสร้อยเส้นที่ว่ามาจากร้านที่มีชื่อเสียงด้วย กันไว้ก่อนน่าจะดีกว่าครับ ปัจจุบันมีการตรวจเพชรสังเคราะห์โดยใช้เครื่อง SDS แยกเพชรสังเคราะห์ ออกจากเพชรแท้ได้ด้วยค

diamond tester ตรวจสอบเพชร

5. ขอใบรับประกัน ผู้ซื้อควรขอใบรับประกันจากทางร้านที่ระบุชื่อร้าน หรือชื่อยี่ห้ออย่างชัดเจน รวมถึงรายละเอียดคุณภาพเพชร ถ้ามีเงื่อนไขการขายคืน หรือแลกเปลี่ยน ให้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนด้วยครับ จำไว้่ว่าถ้าเพชรที่ทางร้านขายเป็นของแท้ ของดีจริงๆ ทางร้านย่อมยินดีที่จะรับซื้อคืนที่ราคาส่วนลดแน่นอนครับ

6. Too good to be true ถ้าจะว่ากันจริงๆแล้ว เพชรนั้นถือได้ว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทหนึ่ง เพชร 3ex ร้านนึงกับเพชร 3ex อีกร้าน ไม่มีความแตกต่าง และต้นทุนเพชรสำหรับร้านเพชรขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ก็แทบไม่มีความแตกต่าง (ยกเว้นเป็นร้านสเกลใหญ่มากๆจริง ซื้อเพชรทีเป็น ร้อยล้าน) ดังนั้นราคาเพชรคุณภาพเดียวกันในตลาดจึงมักใกล้เคียงกันมาก และไม่ต่างกันเท่าไหร่ ถ้าผู้ซื้อได้เห็นเพชรที่ราคาถูกกว่าที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ให้เพิ่มความระมัดระวัง เพราะมันมักจะดีเกินกว่าที่จะเป็นจริง

7. เลือกเพชรไม่เป็น เลือกคนขายเพชรเป็นก็ยังดี เราสามารถตรวจสอบความจริงใจของคนขายได้ง่ายๆ โดยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเพชรไว้บ้าง และลองหยั่งเชิงถามดูว่าผู้ขายให้คำตอบที่จริงใจและซื่อสัตย์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยนี้ จะหาคนที่ทำมาค้าขายอย่างซื่อสัตย์และจริงใจได้ยากมากๆครับ สำหรับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะผู้ขาย แทบจะทุกคนย่อมมีวาระซ่อนเร้นของตัวเอง คนขายบางรายอาจขายแต่เพชรเซอร์ GIA ก็อาจให้ร้ายเซอร์ HRD, IGI อย่างสาดเสียเทเสีย บางเจ้าอาจขายแต่เพชร VVS ก็ให้ข้อมูลทางเดียวและว่าร้ายเพชร VS อย่างไม่มีชิ้นดี ดังนั้นคงเป็นหน้าที่ของเราเองที่ต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียด จะได้ไม่เป็นเหยื่อของการหลอกลวง หรือการชี้นำที่ผิดๆครับ และที่สำคัญอีกอย่าง อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ เพียงแค่สิ่งนั้นดูดีจากภายนอก พยายามศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน อย่าลืมว่า“อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน”

8. ยึดหลักกาลามสูตร กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างสัก 4-5 ข้อได้แก่

  • อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
  • อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
  • อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
  • อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
  • อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน

โดยเฉพาะอย่าเพิ่งหลงเชื่อเพียงเพราะใครอ้างตนเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ โชคดีทุกๆท่านนะครับ ^__^