การดูเพชร

การดูเพชรเบื้องต้น

การดูเพชร

การดูเพชรเบื้องต้น

การเลือกซื้อเพชร การเลือกซื้อแหวนเพชรในปัจจุบันนั้น ถือว่าง่ายกว่าสมัยก่อนมากครับ เนื่องจากมีเพชรที่ขายพร้อมเซอร์ หรือ diamond report จำนวนมาก เพียงแค่เราพอเข้าใจตัวเลขและความหมายของคำต่างๆในเซอร์ เราก็จะพอทราบแล้วครับ ว่าเพชรเม็ดนั้นๆ ดีหรือไม่ดีอย่างไร อย่างไรก็ตามหากเราทราบหลักการและวิธีการพื้นฐานในการดูและตรวจสอบคุณภาพเพชรเบื้องต้นแล้ว เราก็ยิ่งจะสามารถมั่นใจได้ครับ ว่าเพชรแต่ละเม็ดนั้นคุณภาพดีจริงรึไม่ ขอเริ่มจากวิธีการใช้กล่องส่องเพชรก่อนนะครับ ^^

การดูเพชรด้วยกล้องขยาย 10 เท่า


1. วิธีการใช้กล่อง 10 เท่า (Loupe) ส่องเพชร ก่อนอื่นให้จับปากคีบเพชร (Tweezer) ด้วยมือข้างที่เราถนัด โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ครับ ตามรูปซ้ายสุดด้านบน ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมืออีกข้างจับกล้องขยายสิบเท่า โดยให้กางนิ้วกลางออกมาครับ ตามภาพกลางด้านบน แล้วให้นำปากคีบเพชร วางลงบนนิ้วกลาง จากนั้นให้มองผ่านกล้อง โดยเปิดสองตา (ถ้าเปิดตาข้างเดียว มองนานๆจะปวดตาครับ) ขยับกล้องเข้าออก จนภาพที่เห็นผ่านกล้องคมชัด ตามรูปบนด้านขวาสุด ต้องพยายามให้มือนิ่งๆ นะครับ ให้ยึดมือที่ถือปากคีบที่คีบเพชรไว้ให้นิ่ง ขยับเฉพาะอีกมือที่ถือกล้องเข้าออก หลังจากพอจะใช้กล้องส่องเพชร (loupe) ได้แล้วเรามาลองดูวิธีการเทียบสีเพชรครับ

การเปรียบเทียบสีเพชร

2. การประเมินสีเพชร (color) – วิธีแรกคือการประเมินสี โดยที่มีเพชรต้นแบบ (master stone กรณีนี้ยกตัวอย่างว่าสีต้นแบบเป็นสี G น้ำ 97) ไว้เปรียบเทียบ ให้วางเพชรต้นแบบและ เพชรที่ต้องการเทียบสี คว่ำลงครับ โดยให้มองที่ก้นเพชรเฉียงๆ มุม 45 องศา โดยให้วางเพชรต้นแบบ ไว้ตรงกลาง และให้วางเพชรที่ต้องการเทียบไว้ทางซ้าย สังเกตว่าสีอ่อนกว่า (ขาวกว่า) หรือเข้มกว่า (เหลืองกว่า) เสร็จแล้วให้เปลี่ยนเพชรที่ต้องการเทียบมาไว้ด้านขวาและเปรียบเทียบอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยง master eye effect (การประเมินสีเพชรต้องดูเพชรภายใต้แสงอาทิตย์ หรือแสงสีขาว (Daylight) นะครับ ^^)

  • ถ้าผลสรุปว่า วางด้านนึงอ่อนกว่า อีกด้านนึงสีเข้มกว่า สรุปได้ว่าเพชรที่นำมาเทียบสีเดียวกันกับเพชรต้นแบบ คือ น้ำ 97
  • ถ้าด้านนึงเข้มกว่า อีกด้านเท่ากัน สรุปว่าเพชรที่นำมาเทียบสีต่ำกว่าเพชรต้นแบบ 1 ขั้น กรณีนี้คือ เพชรเม็ดนี้น้ำ 96
  • ถ้าด้านนึงอ่อนกว่า อีกด้านเท่ากัน สรุปว่าเพชรที่นำมาเทียบสีสูงกว่าเพชรต้นแบบ 1 ขั้น กรณีนี้คือ เพชรเม็ดนี้น้ำ 98
  • ถ้าด้านนึงอ่อนกว่า อีกด้านนึงก็อ่อนกว่า สรุปว่าเพชรที่นำมาเทียบสีสูงกว่าเพชรต้นแบบอย่างน้อย 2 ขั้น กรณีนี้คือ เพชรเม็ดนี้น้ำ 99 ขึ้นไป
  • และถ้าด้านนึงเข้มกว่า อีกด้านนึงก็เข้มกว่า สรุปว่าเพชรที่นำมาเทียบสีต่ำกว่าเพชรต้นแบบอย่างน้อย 2 ขั้น กรณีนี้คือ เพชรเม็ดนี้น้ำต่ำกว่าหรือเท่ากับ 95 ลงมา
3. การประเมินสีเพชรโดยไม่มีเพชรต้นแบบ – กรณีที่ไม่มีเพชรต้นแบบไว้ใช้เปรียบเทียบ ให้ลองดูเพชรจากด้านหน้า ถ้าเป็นสีขาว ไร้สี และลองมองจากก้นเพชร มองมุม 45 องศา ถ้าเป็นสีขาวไร้สี เช่นกัน เพชรเม็ดนั้นเป็นเพชรเกรด ไร้สี (Colorless) น้ำสูงกว่า 98 (F) ขึ้นไป ในกรณีทีมองจากด้านหน้า เป็นสีขาว ไร้สี และมองจากก้นเพชรเป็นสีนวล แสดงว่าเพชรเม็ดนั้น สีประมาณ 97-96 (G-H) ถ้ามองจากด้านหน้าเป็นสีนวล ด้านก้นเพชรเป็นสีนวล เพชรเม็ดนั้นเป็นสี 95-94 (I-J) กรณีที่มองจากด้านหน้าเห็นสีเหลืองชัดเจนเป็นสี 93 (K) หรือต่ำกว่าครับ

ความสะอาดของเพชร

 

4. การประเมินความสะอาดของเพชร (clarity) – การประเมินความสะอาดต้องดูภายใต้กล้องขยาย 10 เท่านะครับ โดยต้องใช้โคม daylight ช่วยส่องสว่าง กรณีที่ไม่แน่ใจว่าเป็นฝุ่น หรือมลทินที่อยู่ในเพชร ให้สังเกตว่าอยู่บริเวณผิว หรืออยู่ในเนื้อเพชร และให้ใช้ผ้าเช็ดดูนะครับ เมื่อเช็ดแล้ว ถ้าเป็นฝุ่นก็จะหลุดออก ถ้ายังเห็นก็น่าจะเป็นมลทินในเนื้อเพชร เวลาส่องดูให้พลิกเพชรมองดูหลายๆมุมนะครับ บางครั้งมุมนึงอาจมองไม่เห็น แต่พอมองอีกมุมกลับเห็นครับ
  • กรณีที่ส่องดูจนทั่วใช้เวลากว่านาทีแล้วยังไม่พบอะไร เพชรเม็ดนั้นน่าจะเป็น IF (Internal Flawless)
  • กรณีที่ต้องใช้เวลาค้นหา นานประมาณ ครึ่งนาที หรือมากกว่า(ขึ้นอยู่กับความชำนาญด้วยครับ) ถึงจะพบตำหนิขนาดเล็กมากมาก ลักษณะคล้ายรูเข็ม (pinpoint) หรือผลึกขนาดเล็กมากๆ เหมือนรูปด้านบนซ้ายมือสุด ในวงกลมสีแดง สรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น มีความสะอาดระดับ VVS (Very Very Small Included)
  • กรณีที่ต้องใช้เวลาค้นหา นานประมาณ 10 วินาที หรือมากกว่าถึงจะพบตำหนิขนาดเล็กมาก ซึ่งมีขนาดใหญ่และจำนวนมากกว่าความสะอาด VVS ตามรูปกลางครับ สรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น มีความสะอาดระดับ VS (Very Small Included) สำหรับเพชรความสะอาดระดับ VS มลทินหรือตำหนิจะมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถเห็นได้ด้วย ตาเปล่า และไม่ขัดขวางการเดินทางของแสง จึงไม่มีผลใดๆต่อความสวยงามของเพชรครับ
  • กรณีที่ส่องกล้องแล้วเห็นตำหนิทันที โดยไม่ต้องค้นหา และตำหนิขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดใหญ่และจำนวนมากกว่าความสะอาด VS ตามรูปขวาครับ สรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น มีความสะอาดระดับ SI (Small Included) สำหรับความสะอาดระดับ SI ถ้ามลทินมีขนาดใหญ่ หรือมีสี หรืออยู่กลางหน้าเพชร อาจขัดขวางการเดินทางของแสงและมีผลต่อความสวยงามของเพชรโดยรวมครับ
  • กรณีที่สามารถมองเห็นตำหนิด้วยตาเปล่า เพชรเม็ดนั้นมีความสะอาดระดับ I (Imperfect) ตำหนิมีขนาดใหญ่ มีผลต่อความสวยงามและความคงทนของเพชรครับ แนะนำให้หลีกเลี่ยงทุกกรณี
5. การประเมินคุณภาพการเจียรไน – คุณภาพในการเจียรไน ถือว่ามีผลต่อความสวยงามของเพชรมากครับ ต่อให้เพชรคุณภาพ D/IF หากเจียรไน ไม่ดี ก็จะไม่สามารถเปล่งประกายสวยงามได้อย่างที่ควรที่จะเป็น และคุณภาพการเจียรไน เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก สำหรับการดูเพชรเบื้องต้นนี้ผมขออธิบายเฉพาะจุดที่สำคัญ และ ไม่ลงในรายละเอียดมากเกินไปนะครับ ก่อนที่จะสามารถประเมินคุณภาพของการเจียรไนเพชรได้อย่างคร่าวๆ เราต้องทราบก่อนว่าเหลี่ยมต่างๆของเพชร เรียกว่าอะไรกันมั่งครับ หลังจากนั้นเรามาเริ่มวิธีการดูเหลี่ยมที่ใหญ่ที่สุดก่อนครับ เหลี่ยม table
เหลียมเพชร bow inเหลี่ยมเพชร
  • กรณีที่ เส้นขอบเหลี่ยม table เป็นเส้นโค้งเว้าเข้าจุดศนย์กลางเพชร (Bow in) เราสรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น table เล็กกว่า 60% (% เมื่อเทียบกับ ขนาดเพชรเมื่อมองจากด้านหน้า) อย่างในรูปบนซ้ายสุด table ประมาณ 56-58%
  • กรณีที่ เส้นขอบเหลี่ยม table เป็นเส้นตรงเหมือนภาพกลางด้านบน เราสรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น table ประมาณ 60%
  • กรณีที่ เส้นขอบเหลี่ยม table เป็นเส้นโค้งเว้าออกจากจุดศูนย์กลางเพชร (Bow out) เราสรุปได้ว่าเพชรเม็ดนั้น table ใหญ่กว่า 60% จากรูปบนขวาสุด table ประมาณ 62% ครับ
5.1 การประเมินมุมคราวน์ – มุมคราวน์มีส่วนอย่างมากต่อความสวยงามของเพชร ถ้าคราวน์สูงหรือต่ำไป เพชรจะดูมืด ไม่สะท้อนแสง และเปล่งประกายเท่าที่ควร ตามทฤษฎีแล้ว มุมคราวน์ที่เหมาะสมที่สุดจะอยู่ที่ 34-35 องศาครับ เราสามารถประเมินองศามุมคราวน์ได้จากการมองด้านหน้าเพชรมุมตรงครับ
การตรวจสอบเหลี่ยมเพชร ประเมินมุมคราวน์
  • กรณีที่ ส่วนที่กว้างสุดของหัวลูกศรเทียบกับส่วนปลายของก้านลูกศร เป็นอัตราส่วน 2:1 มุมคราวน์ประมาณ 39 องศา ซึ่งสูงเกินไปครับ เพชรเม็ดนั้นๆมักมี คราวน์สูง และเพชรหนา มีหน้าแคบกว่าเพชรที่สมส่วน เพชรจะดูหน้ามืดครับ ควรหลีกเลี่ยง
  • กรณีที่ ส่วนที่กว้างสุดของหัวลูกศรเทียบกับส่วนปลายของก้านลูกศร เป็นอัตราส่วน 1.5:1 มุมคราวน์ประมาณ 34.5 องศา ซึ่งถือว่าสวยงาม ได้มาตรฐานเหลี่ยมในอุดมคติครับ เพชรจะเปล่งประกายสวยงาม
  • กรณีที่ ส่วนที่กว้างสุดของหัวลูกศรเทียบกับส่วนปลายของก้านลูกศร เป็นอัตราส่วน 1:1 มุมคราวน์ประมาณ 30 องศา ซึ่งถือว่าต่ำเกินไปครับ เพชรเม็ดนั้นๆมักมีคราวน์เตี้ย และบาง ทำให้แสงลอดออกและไม่สะท้อนกลับทางหน้าเพชร บางครั้งอาจเห็น Fish eye (ภาพสะท้อนของขอบเพชรที่ขุ่น ที่หน้าเพชร) ด้วยครับ
5.2 การประเมินขอบเพชร (girdle) – ขอบเพชรมีผลค่อนข้างมากต่อความสวยงามของเพชรโดยรวม ขอบเพชรที่ดีควรอยุ่ระหว่าง บาง ถึงหนาเล็กน้อย thin-slightly thick ถ้าขอบเพชรบางเกินไป (Very thin) จะเปราะและอาจบิ่นง่ายครับ ถ้าขอบเพชรหนาไป (thick, very thick) น้ำหนักเพชรจะไปอยู่ที่ขอบซะเยอะ ทำให้เพชรหน้าแคบกว่าที่ควรครับ เช่น เพชรขนาด 50 ตังค์ อาจดูเหมือน 40 ตังค์
การประเมินขอบเพชร (Girdle)
  • บางมาก (very thin) – เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นเป็นเส้นบางๆ มองด้วยตาเปล่าไม่ค่อยเห็น
  • บาง (Thin) – เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นเป็นเส้นบาง มองด้วยตาเปล่า เห็นได้ยาก
  • ปานกลาง (Medium) – เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นเป็นเส้น มองด้วยตาเปล่า เห็นเป็นเส้นบางๆ
  • ค่อนข้างหนา (Slightly thick) – เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นได้ชัดเจน และสามารถเห็นชัดด้วยตาเปล่า
  • หนา (Thick) – เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นได้ชัดมาก และสามารถเห็นชัดด้วยตาเปล่า
  • หนามาก (Very Thick) – เมื่อมองผ่านกล้องขยาย 10 เท่า จะเห็นขอบหนามาก และสามารถเห็นชัดเจนมากด้วยตาเปล่า
เขียนมายาว เหนื่อยแล้วครับ Y_Y คงขอจบแค่นี้ก่อน ส่วนอื่นๆที่ควรสังเกต ก้อได้แค่ symmetry ของเพชร ซึ่งอยู่ในคุณสมบัติของ cutting ดูให้แน่ใจว่า table อยู่ตรงกลาง ไม่เบี้ยว โย้ ไปด้านใดด้านนึง และลองจินตนาการว่าถ้าพับเพชรครึ่งนึงแล้ว ซ้ายขวา บรรจบกันพอดีรึป่าว เหลี่ยมๆต่างเท่ากัน พบกันใหม่ภาคหน้าครับ โชคดีกับการดูเพชร เลือกเพชร ทุกคนครับ (^_^)